กิจวัตรข้อที่ 5 พูดดี...ด้วยการพูดจาไพเราะ

การพูด เป็นเรื่องสำคัญในชีวิต เพราะตลอดทั้งชีวิต เราต้องอาศัยการพูดเป็นการสื่อสารที่สำคัญ พูดดีก็เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต พูดไม่ดีก็ทำให้ชีวิตย่ำแย่ได้ เราจึงจะเป็นต้องเรียนรู้และฝึกนิสัยการพูดจาไพเราะ


การที่คนจะพูดดีได้ ต้องเริ่มจากคิดดีก่อน เมื่อเรามีทัศนคติที่ดี เห็นโลกในมุมที่ดีทั้งของตนเองและผู้อื่น เมื่อต้องพูดจากัน ก็ย่อมพูดดีได้ ซึ่งตรงนี้เราได้ฝึกผ่านกิจวัตรข้อที่ 4

การพูดจาไพเราะ มีองค์ประกอบ 5 ประการด้วยกัน

  1. เป็นคำจริง ไม่ใช่คำโกหกหรือคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่เสริมความ ไม่อำความ
  2. เป็นคำสุภาพ ไพเราะ ที่กลั่นออกมาจากน้ำใจที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นคำหยาบ คำด่า คำประชดประชัน คำเสียดสี
  3. พูดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดผลดีทั้งแก่คนพูดและคนฟัง ถึงแม้คำพูดนั้นจะจริงและเป็นคำสุภาพ แต่ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร กลับจะทำให้เกิดโทษ ก็ไม่ควรพูด
  4. พูดด้วยจิตเมตตา พูดด้วยความปรารถนาดี อยากให้คนฟังมีความสุข ในข้อนี้หมายถึงว่า แม้จะพูดจริง เป็นคำสุภาพ พูดแล้วเกิดประโยชน์ แต่ถ้าจิตยังคิดโกรธมีความริษยา มีอารมณ์ขุ่นมัวก็ยังไม่สมควรพูด เพราะผู้ฟังอาจรับไม่ได้ และอาจก่อให้เกิดความเสียหาย
  5. พูดถูกกาลเทศะ แม้ใช้คำพูดที่ดี เป็นคำจริง เป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดที่มีประโยชน์ และพูดด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าผิดจังหวะ ไม่ถูกกาลเทศะ ผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะรับแล้ว จะก่อให้เกิดผลเสียได้ เช่น จะกลายเป็นประจานหรือจับผิดกันไป
  • พูดถูกเวลา (กาล) คือรู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนยังไม่ควรพูด ควรพูดนานเท่าไร ต้องคาดผลที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย
  • พูดถูกสถานที่ (เทศะ) คือรู้ว่าในสถานที่เช่นไร เหตุการณ์แวดล้อม เช่นไรจึงสมควรที่จะพูด หากพูดออกไปแล้วจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร เช่น มีความหวังดีอยากเตือนเพื่อนไม่ให้ดื่มเหล้า แต่ไปเตือนขณะเพื่อนกำลังเมาอยู่ในหมู่เพื่อนฝูงทำให้เขาเสียหน้า อย่างนี้นอกจากเขาจะไม่ฟังแล้ว เราอาจเจ็บตัวได้

“คนฉลาดไม่ใช่เป็นแต่พูดเท่านั้น ต้องนิ่งเป็นด้วย คนที่พูดเป็นนั้น
ต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรพูดให้ยิ่งกว่าสิ่งที่ควรพูด”